วันที่ 27 ส.ค. 2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังลงพื้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย เพื่อให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า การเดินทางมาเชียงรายครั้งนี้เพราะถือว่าเป็นหนี้บุญคุณประชาชน 17 ปีไม่เคยลืมกัน เมื่อมีทุกข์ก็ต้องมาให้กำลังใจ ถือเป็นธรรมชาติของคนไทยที่ต้องรู้จักบุญคุณคน

นายทักษิณ กล่าวว่า จะนำปัญหาที่ได้รับฟัง กลับไปแจ้งรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยา ซึ่งน้ำท่วมเป็นภาวะซ้ำซาก เนื่องจากไม่ได้แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ถ้าเริ่มใหม่วันนี้ ต้องทำทั้งระบบด้วยการตั้งงบประมาณจำนวนมาก ทุกลุ่มน้ำต้องได้รับการดูแลทั้งหมด

นายทักษิณ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบว่า มีน้ำไหลมากผิดปกติ ดังนั้น จะต้องพูดคุยกับประเทศจีนที่อาจปล่อยน้ำมามาก เพราะจีนเองก็เผชิญปัญหาน้ำท่วม เพื่อหารือเรื่องจังหวะการปล่อยน้ำไม่ให้ล้นตลิ่ง เบื้องต้นทราบว่า กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการพูดคุย

สำหรับการจัดการน้ำในประเทศ นายทักษิณ กล่าวว่า แม่น้ำก็เหมือนรถยนต์ ถ้าไม่มีเบรกก็อันตราย ดังนั้น จะต้องติดเบรกด้วยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือแก้มลิง

นอกจากนี้ นายทักษิณ กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เล่าให้ฟังว่า กรมชลประทานพร่องน้ำภาคกลางไว้รับน้ำจากภาคเหนือแล้ว เช่น เขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสัก มีน้ำเหลือเพียง 20% เพียงพอรอรับน้ำได้อีกมาก จึงเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ซ้ำรอยปี 2554

ด้าน น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนต่างดีใจที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางมาในนามประชาชนคนหนึ่ง เพื่อเยี่ยมเยือนความเดือดร้อนจากน้ำท่วมภาคเหนือ จากเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา มีน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะที่แม่น้ำอิงและแม่น้ำลาว เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก

น.ส.วิสาระดี กล่าวต่อว่า โดยมวลน้ำจากลำน้ำอิงจะถูกปล่อยมาจากกว๊านพะเยาซึ่งเป็นต้นทางเข้าสู่ จ.เชียงราย และไหลลงสู่แม่น้ำโขง หากมวลน้ำรอบใหม่มาถึงในเร็วๆ นี้ ปริมาณน้ำจะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ตั้งแต่ อ.เทิง อ.พญาเม็งราย อ.ขุนตาล และ อ.เชียงของ ซึ่งหลายหมู่บ้านยังคงจมอยู่ในน้ำ จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก

น.ส.วิสาระดี กล่าวอีกว่า ทราบจากจังหวัดเชียงรายว่าได้เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16-26 สิงหาคม 2567 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม รวมทั้งสิ้น 12 อำเภอ 35 ตำบล 194 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (5 ชุมชน) ราษฎรได้รับผลกระทบ 3,328 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 2 ราย พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 22,199 ไร่ บ่อปลา/นากุ้ง 241 บ่อ หมู 40 ตัว โค/กระบือ 22 ตัว ถนน 15 จุด โรงเรียน/อาคารบ้านพักครู 2 แห่ง

น.ส.วิสาระดี กล่าวต่อว่า ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น อ.ป่าแดด มีน้ำท่วมขัง ต.ป่าแงะ 4 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว, ต.สันมะค่า กระทบ 3 หมู่บ้าน ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น ส่วนบ้านสันบัวคำหมู่ 3 เริ่มเข้าในชุมชนได้รับความเสียหาย 10 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

น.ส.วิสาระดี กล่าวต่อว่า ส่วนที่ ต.ศรีโพธิ์เงิน น้ำท่วม 1 หมู่บ้าน ปัจจุบัน ระดับน้ำทรงตัว, ต.ป่าแดด น้ำท่วม 7 หมู่บ้าน และท่วมพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณ 2,500 ไร่ ท่วมบ่อปลา 20 บ่อ ท่วมถนน 10 จุด ปัจจุบัน ระดับน้ำทรงตัว และ ต.โรงช้าง น้ำท่วม 1 หมู่บ้าน จึงขอให้หน่วยงานราชการ ช่วยติดตามความช่วยเหลือให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน