เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2568 ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เขตบางบอน กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนช่างสิบหมู่ เรือนจำพิเศษธนบุรี เพื่อดำเนินการตามแผนและนโยบายส่งเสริมให้ช่างสิบหมู่มีมาตรฐานในระดับสากล และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยที่มีความหลากหลายและคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของไทย
โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายอำนวย เปรมกิจพรพัฒนา ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรี พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ผู้บริหารวิทยาลัยในวัง เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษธนบุรี เข้าร่วมพิธี
พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ถึงพนักงานอัยการคดีพิเศษ มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือแซม และน.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือ มิน 2 นักแสดงชื่อดัง ผู้ต้องหาในคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และเกิดกระแสวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมจะรับผิดชอบอย่างไร ที่ทั้งสองต้องถูกคุมขังในเรือนจำ ระหว่างขั้นตอนของอัยการที่มีคำสั่งฟ้องต่อศาลว่า เราต้องยึดหลักนิติธรรม ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด เราถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ นี่คือหลักสากล
ในกระบวนการยุติธรรม เราไม่ได้บูรณาการ เราต้องมีอิสระในการใช้ดุลพินิจ ถ้าบูรณาการโดยตรงเกินไป มันจะเป็นการฮั้วกัน ทำให้เป็นปัญหาต่อกระบวนการได้ ฉะนั้น พนักงานจึงมีอิสระสั่งคดี ซึ่งกรณีพนักงานสอบสวน เมื่อสั่งฟ้องไปแล้ว พนักงานอัยการอาจจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ บางทีพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการอาจสั่งฟ้อง
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า แต่เรามีการถ่วงดุลของอัยการ คือ ถ้าอัยการไม่สั่งฟ้อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งอย่างไรหรือไม่ ถ้าหากอธิบดีดีเอสไอ เห็นแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ก็ต้องทำหนังสือขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นอิสระจากอัยการที่สั่งฟ้องอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ถ้าคดีถึงที่สุดเมื่อใดนั้น ในทางกฎหมายจึงจะถือว่าเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นเหยื่อ หรือเป็นแพะ หรือจำเลยที่ศาลยกฟ้อง ซึ่งขณะนี้กระทรวงยุติธรรม ได้ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิไปมากกว่านั้น โดยเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ซึ่งแม้แต่ในชั้นอัยการ หากมีการสั่งไม่ฟ้อง
แต่คดีไปถึงเด็ดขาดแล้ว เราจะเยียวยาให้กับผู้เสียหายหรือจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวชั่วคราว สิ่งนี้เป็นการพัฒนาของกระบวนการยุติธรรม แต่ขณะนี้อาจมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะมันยังอยู่ระหว่างทาง จึงขอให้ดูให้สุด
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในชั้นของดีเอสไอ มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูหลายราย หากท้ายสุด อัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง เขาก็มีสิทธิ์ได้รับการชดเชยเยียวยา แต่ตอนนี้ตนไม่ทราบได้ว่าอธิบดีดีเอสไอ จะเห็นแย้งหรือไม่อย่างไร
ในเรื่องความยุติธรรม อย่าเอากระแสมากดดัน อยากให้พิจารณาตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน และเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีผลกระทบเยอะ เป็นคดีที่น่าสนใจ เราอยากให้พนักงานสอบสวนทำตามพยานหลักฐาน และก็ทำตามความรู้ความสามารถจริงๆ
เมื่อถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่าหากในช่วงทำคดีนั้น พนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา อาจทำให้ศาลได้พิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ถือเป็นประโยชน์ที่ศาลจะได้พิจารณา แต่ศาลไม่ได้ดูเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว บางส่วนที่คัดค้านประกัน ศาลก็ให้ประกัน บางส่วนไม่ได้คัดค้านเลย ศาลก็ไม่ให้ประกัน
ศาลจะดูในส่วนของการยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือไม่ จะหลบหนีหรือไม่ อัตราโทษอย่างไร ซึ่งไม่ได้มีเงื่อนไขว่าคัดค้านหรือไม่คัดค้าน ไม่ได้อยู่ในข้อกฎหมาย ทั้งนี้กฎหมายให้ดูหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งแต่ละคนจะมีความเห็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง.