ยืนยันด้วยผลวิจัย “เวลาเข้านอน” ดีต่อสุขภาพหัวใจที่สุด ไม่ใช่การนอนแต่หัวค่ำก่อน 4 ทุ่ม อย่างที่หลายคนคิด
งานวิจัยที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 88,000 คน อายุระหว่าง 43-79 ปี ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Heart Journal พบว่าการเข้านอนดึกเกินไปหรือเข้านอนเร็วเกินไป (ก่อน 4 ทุ่ม) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
ทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลพฤติกรรมการนอนของผู้เข้าร่วมการทดลองผ่านอุปกรณ์ติดตามบนข้อมือเป็นเวลา 7 วัน พร้อมทั้งเก็บข้อมูลสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตผ่านแบบสอบถาม
ผู้เข้าร่วมถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามช่วงเวลาที่เข้านอน ได้แก่
กลุ่มที่เข้านอนก่อน 22.00 น. กลุ่มที่เข้านอนระหว่าง 22.00-22.59 น. กลุ่มที่เข้านอนระหว่าง 23.00 น. ถึงเที่ยงคืน กลุ่มที่เข้านอนหลังเที่ยงคืน
ในช่วงเวลา 6 ปีของการศึกษา พบว่าผู้เข้าร่วม 3.6% (3,172 คน) พัฒนาโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเกิดเหตุการณ์ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เข้านอนหลังเที่ยงคืนมีอัตราโรคหัวใจสูงที่สุด โดยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เข้านอนระหว่าง 22.00-22.59 น. ขณะที่กลุ่มที่เข้านอนก่อน 4 ทุ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 24% และกลุ่มที่เข้านอนระหว่าง 5 ทุ่มถึงเที่ยงคืนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 12%
จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่เข้านอนระหว่าง 22.00-22.59 น. มีอัตราการเกิดโรคหัวใจต่ำที่สุด ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปกป้องสุขภาพหัวใจ
ดร.เดวิด แพลนส์ จากมหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์ สหราชอาณาจักร ผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า “ทีมวิจัยพบว่าการเข้านอนดึกเกินไปหรือเร็วเกินไป (ก่อน 4 ทุ่ม) เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากการเข้านอนเร็วหรือช้าเกินไปสามารถรบกวนจังหวะชีวภาพของร่างกาย ส่งผลต่อการนอนหลับ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด”
การนอนหลับที่มีคุณภาพสำคัญต่อสุขภาพ
ดร.อภินาฟ ซิงห์ ผู้อำนวยการศูนย์การนอนหลับอินเดียนา และผู้เชี่ยวชาญจาก Sleep Foundation กล่าวว่า “คุณภาพการนอนที่ดีเป็นพื้นฐานของสุขภาพที่สมบูรณ์ แม้ว่าคุณจะรับประทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่หากนอนหลับไม่เพียงพอ สุขภาพของคุณยังคงเสี่ยงต่อปัญหา”
ในระหว่างการนอนหลับระยะที่ไม่ฝัน (NREM) อัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลง ความดันโลหิตลดลง และการหายใจมีความคงที่ ซึ่งช่วยลดความเครียดต่อหัวใจและช่วยให้ฟื้นตัวจากความเครียดในระหว่างวัน ดังนั้น ปัญหาการนอนหลับจึงเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจวาย โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง
ดร.เดวิส ยังระบุว่าผลการศึกษานี้ยังไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างเวลาเข้านอนกับความเสี่ยงโรคหัวใจได้อย่างชัดเจน แต่การกำหนดเวลาเข้านอนอาจเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หากมีการศึกษาที่ได้ข้อสรุปคล้ายกันในอนาคต อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจด้วยการปรับเปลี่ยนเวลาเข้านอน