เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 เป็นกรณีช็อกวงการแพทย์ เมื่อเว็บไซต์ National library of medicine ห้องสมุดการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ เด็กหญิงรายหนึ่งป่วยเป็นโลกหายาก เมื่อ CT SCAN สมอง ก็พบสิ่งสุดช็อก มีทารกอีกคนในสมองมาตั้งแต่เกิด
โดยบทความนี้เป็นกระบวนการวินิจฉัยและผ่าตัดของ เด็กหญิงรายหนึ่ง อายุ 1 ปี มีปัญหาเส้นรอบวงศีรษะใหญ่ มีความล่าช้าในทักษะการเคลื่อนไหวและพัฒนาการทางการพูด
งานนี้ต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญหลายสาขา อาทิ วิสัญญีวิทยา,ประสาทวิทยา,ศัลยกรรมประสาท, พยาธิวิทยา และ รังสีวิทยา
ทารกในครรภ์ทารก (fetus in fetu) คืออะไร
หลายคนอาจเคยได้ยินหรือเห็นกรณีข่าวเกี่ยวกับ ภาวะ ทารกในครรภ์ทารก (fetus in fetu)
สำหรับทางการแพทย์ ทารกในครรภ์ทารก (FIF) นับเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นภาวะที่มีทารกรูปร่างผิดปกติอยู่ภายในร่างกายของแฝด
มักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการพัฒนาของตัวอ่อน ตอนที่ทารกในครรภ์ม้วนพันเข้ากับทารกแฝดอีกคนแฝดที่ถูกทารกอีกคนห่อหุ้มอยู่ด้านนอก จะไม่มีรูปร่างที่สมบูรณ์ แต่จะกลายเป็น ปรสิต ฝังอยู่ในตัวแฝดอีกคนเพื่อความอยู่รอด และแฝดดังกล่าวมักจะเสียชีวิตก่อนเกิด
มีรายงานผู้ป่วยหลายร้อยรายทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (โดยมีอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงโดยประมาณ คือ 2:1) ส่วนใหญ่พบในช่องหลังช่องท้อง (80%) แต่บางส่วนอาจพบได้ในช่องปาก สมอง ช่องกลางทรวงอก ช่องเชิงกราน กระดูกเชิงกราน และถุงอัณฑะ
อาการแสดงหลายอย่าง เช่น โรคโพรงสมองคั่งน้ำในเคสนี้ อาจเกิดขึ้นเป็นผลรองของก้อนเนื้อที่อวัยวะใกล้เคียง การตรวจพบในระยะเริ่มต้นและการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลเพียงวิธีเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่มีบทสรุปถึงสาเหตุที่แน่ชัด
สำหรับกรณีของเด็กหญิงวัย 1 ปีรายนี้ ทราบเบื้องต้นว่า มีการตรวจพบความผิดปกติ เส้นรอบวงศีรษะใหญ่ตั้งแต่เด็กหญิงยังอยู่ในครรภ์มารดาช่วง 33 สัปดาห์ ทั้งนี้ ภาพโดยรวมยังไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัด ซึ่งคุณแม่ได้ให้กำเนิดเด็กหญิงรายนี้ด้วยการผ่าคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ โดยที่มีเส้นรอบวงศีรษะใหญ่กว่าเด็กในวัยเดียวกัน
ต่อมา เมื่อเด็กหญิงอายุ 1 ปี มีส่วนสูง 70 ซม. น้ำหนัก 13.5 กก. พบปัญหา เส้นรอบวงศีรษะใหญ่ ขนาด 56.6 ซม. เธอมีความล่าช้าในทักษะการเคลื่อนไหว และพัฒนาการทางการพูด สามารถพูดได้เพียงคำว่า แม่ และไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
ยิ่งเวลาผ่านไป ปัญหาการใช้ชีวิตยิ่งมากขึ้น เด็กหญิงไม่สามารถยืนได้
ทีมแพทย์ได้ทำการ CT SCAN ศีรษะ พบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในสมอง โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 ซม. กดทับบริเวณใกล้เนื้อสมอง
เมื่อพบเช่นนั้น การผ่าตัดจึงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ทีมแพทย์และครอบครัว ตัดสินใจดำเนินการผ่าตัดก้อนเนื้อดังกล่าวทันที ซึ่งก็สามารถนำก้อนเนื้อออกมาได้อย่างสมบูรณ์ แต่งานนี้ก็ทำเอาช็อกวงการแพทย์ เมื่อก้อนเนื้อดังกล่าวมีลักษณะคล้ายทารก ยาว 18 ซม. มีรูปร่างเหมือนปาก ตาแขน และมือ ที่ผิดรูป
ทั้งนี้ เด็กหญิงวัย 1 ปี ไม่ได้สติหลังผ่าตัด และมีอาการชัก ไม่สามารถควบคุมได้ และเสียชีวิตหลังจากผ่าตัด 12 วัน
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวได้สรุปไว้ว่า การเกิดภาวะ ทารกในครรภ์ทารก (fetus in fetu) ในกะโหลกศีรษะนั้นพบได้น้อยมาก และควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว รวมถึงการผ่าตัดที่ชำนาญ
อีกทั้งภาวะดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัด ดังนั้นการตรวจอัลตราซาวนด์ในระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจหาภาวะดังกล่าว ซึ่งมีประโยชน์หลายประการ