กระแสตอบรับดีมากๆเลยค่ะ สำหรับละครเรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ที่ได้พระนางเคมีเคใจสุดฟินฮากระจายอย่าง โบว์ เมลดา และ ภณ ณวัสน์ มาร่วมงานกัน บอกเลยว่าเรตติ้งดีมากๆ ออกอากาศได้ 2 ตอนก็ปังไม่ไหว
โดยตอนที่ 2 นั้นหลายคนก็ไปสะดุดตากับ “จีวรลายดอกพิกุล” ที่พระสงฆ์สวมใส่ ล่าสุด (25ม.ค.68) ทาง ศิลปวัฒนธรรม ก็ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว
โดยระบุว่า ““จีวรดอกพิกุล” เทรนด์จีวรลายดอกพระสงฆ์ไทยยุคต้นกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ฉากหลังของละครเรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ผู้ชมคงจะสังเกตเห็นว่าสมัยนั้นพระสงฆ์มีการนุ่งห่มจีวรประดับลวดลาย เรียกว่า “ลายดอกพิกุล” ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบจะไม่สามารถพบเห็นได้แล้วในปัจจุบัน ธรรมเนียมดังกล่าวเคยมีจริงไหม เป็นมาอย่างไร ?
ธรรมเนียมดังกล่าวพบมากในพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ในหลักฐานภาพถ่ายร่วมสมัย รวมถึงธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปครองจีวรลายดอก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของศิลปกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
การห่มจีวรลายดอกพิกุลนั้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เนื่องจากราชสำนักมีธรรมเนียมการถวายผ้าจีวรที่มีลวดลายดอกไม้แด่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ดังปรากฏใน “จดหมายเหตุบัญชีผ้าพระกฐินและผ้าไตร จ.ศ. ๑๑๘๗”
ว่ากันว่า การถวายจีวรลายดอกอาจมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยพระพุทธเจ้าประทานอนุญาตเฉพาะลายดอกไม้ขนาดเล็ก สีสันไม่ฉูดฉาด หรือไม่เป็นลายแวววาว
จีวรลายดอกที่นิยมถวายให้พระสงฆ์ในสมัยนั้น จะใช้ผ้าราคาสูงนำเข้าจากแคว้นเบงกอล ในอนุทวีปอินเดีย (ปัจจุบันคือ บังกลาเทศ) เป็นผ้าฝ้ายเนื้อบางละเอียด ทอเป็นลายดอกไม้-ดอกพิกุลขนาดเล็กทั้งผืน เรียกว่า “ผ้าย่ำตะหนี่” (Jamdani-ภาษาเปอร์เซีย) หรือย่ำตานี/ย่านตานี นำมาตัดเย็บและย้อมน้ำฝาดตามพระวินัย ก่อนนำถวายพระสงฆ์
สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ยังมีความนิยมสร้างพระพุทธรูปและพระพุทธสาวกให้นุ่งห่มจีวรลายดอกด้วย ซึ่งก็เป็นการถอดแบบมาจากการนุ่งห่มของพระสงฆ์สมัยนั้น มีการครองจีวรลายดอกหลายรูปแบบ ทั้งลายดอกพิกุล ลายใบเทศ และลายพุ่มข้าวบิณฑ์
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าธรรมเนียมการถวายผ้าแพรมีลายแด่พระพุทธรูป มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว เพียงแต่มานิยมแพร่หลายมากขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 จากธรรมเนียมการถวายจีวรลายดอกแก่พระสงฆ์นั่นเอง
การถวายจีวรลายดอกแด่พระสงฆ์ เสื่อมความนิยมลงในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อลดทอนความหรูหราฟุ่มเฟือย สอดคล้องกับพระราชนิยมในการสร้างพระพุทธรูปที่ได้เปลี่ยนไปในทางเสมือนจริงตามแนวสัจนิยม เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีเพียงพระเถระชั้นผู้ใหญ่บางรูปในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ยังนิยมครองจีวรลายดอกพิกุลอยู่ และท้ายที่สุด “เทรนด์” ดังกล่าวก็หายไป”
กระจ่างกันเลยทีเดียวค่ะ เพราะว่าหลายคนเพิ่งจะรู้เลยว่าในอดีตพระสงฆ์มีการใช้จีวรลายดอกไม้ด้วย
ขอบคุณข้อมูล : Silpawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม , #คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์