วันที่ 18 ก.ย. 2567 นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 8 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ทั้งนี้เนื่องจากมีร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีปริมาณฝนตกมากขึ้น ซึ่งจากการคาดการณ์ โดยกรมชลประทาน ใน 1-7 วันข้างหน้า

โดยในวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,500 – 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ SideFlow ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได จึงจะส่งผลทำให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 60 เซนติเมตร – 1 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และที่บริเวณแม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทางกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเข้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานจึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด