เผยผลตรวจ พยาบาลถูกตบหน้า แก้วหูอักเสบ มีปัญหาการได้ยิน ปวดคอ เครียดนอนไม่กลับ คาดใช้เวลารักษากว่า 2 สัปดาห์ เพื่อนพยาบาลเล่านาทีเกิดเหตุ
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.68 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ระยอง นพ.ภูษิต ทรัพย์สมพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง พร้อมด้วยพยาบาลห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน (ICU) รพ.ระยอง มาให้ข้อมูลเกี่ยวญาติผู้ป่วย ตบพยาบาลระหว่างที่เข้าไปแจ้งเตือนไม่ให้นำเด็กเล็กเข้าไปในห้อง ICU เนื่องจาก เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดการติดเชื้อในเด็กเล็กอันตรายถึงกับชีวิต
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า จากการรับฟังเหตุการณ์ประกอบกับภาพวิดีโอกล้องวงจรปิด พบว่ากลุ่มญาติมากัน 5 คน มีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย พยาบาลเข้าไปเตือนญาติผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ A อาการรุนแรง โดยเป็นการเข้าไปเตือนด้วยความหวังดี ไม่อยากให้นำเด็กอายุน้อยๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายเข้าไปในพื้นที่ห้องไอซียู ซึ่งถือเป็นพื้นที่ควบคุมไม่ใช่ว่าใครจะเข้าไปได้ ต้องได้รับการอนุญาตก่อน เตือนครั้งแรกถือว่าเข้าใจกันก็ออกไป
จากนั้นถึงเวลาอนุญาตให้เยี่ยมอีกครั้ง ภรรยากลับเข้ามาพร้อมเด็กเล็ก พยาบาลจึงยืนยันอีกครั้งว่าไม่อยากให้เด็กเข้ามา เพราะผู้ป่วยติดเชื้อลงปอด เด็กเสี่ยงติดเชื้อเสี่ยงเกิดการสูญเสียอีกได้ ซึ่งน้องพยาบาลพูดตามหลักวิชาการ พูดตรงไปตรงมา อาจจะสื่อสารคำพูดไม่เข้าใจกันได้ แต่สาระสำคัญของการสื่อสารคืออาการรุนแรง ดังนั้นฟังแล้วพยาบาลหวังดี เป็นห่วงเด็ก ไม่ควรมีความรุนแรงด้วยซ้ำ
ควรฟังสาระสำคัญมากกว่า เพราะหากสุดท้ายเกิดเด็กติดเชื้อ อาการรุนแรงขึ้นมาก็จะมาตำหนิทางโรงพยาบาลอีกว่า ไม่มีมาตรการดูแล อย่างไรก็ตาม สุดท้ายสามีเข้ามาสอบถามหาคนพูดกับภรรยาตัวเอง และตบเข้าที่กกหู 2 ครั้ง พยายามหลังมืออีก 1 ครั้ง
“เรื่องนี้เราไปลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อรับเป็นคดีไว้ก่อน แต่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจร่างกายไปประกอบด้วย เรื่องจากว่าเมื่อวานนี้ (18 ก.พ.) น้องพยาบาลมีความเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น แก้วหูกระทบกระเทือน มีการอักเสบและมีเรื่องของการได้ยินมีความคาดเคลื่อน ต้นคอยังปวดอยู่ เมื่อคืนก็นอนไม่กลับ เพราะมีอาการปวดหู เพราะถูกตบเข้ากกหูอย่างแรง” นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าว
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ก่อเหตุยังไม่ติดต่อเข้ามา แต่ถ้าติดต่อเข้ามาเราก็ยินดี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นโทษที่มากกว่าการทำร้ายร่างกาย เพราะพยาบาลถือเป็นเจ้าพนักงาน ถ้ามาขอโทษก็จะแยกส่วน เป็นการบรรเทาโทษ แต่ความผิดอาญาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอยืนยันว่าในส่วนของผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างการรักษานั้น ทางโรงพยาบาลให้การดูแลอย่างเต็มที่ตามมาตรฐาน ไม่ได้ไปคิดโกรธเคืองอะไรกัน เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสธ. กล่าวว่า เรื่องนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. บอกว่าเหตุการณ์นี้ต้องดำเนินคดี เพราะทำให้หน่วยงานเสียหาย เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี อาจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบใครเข้ามาแล้วไม่พอใจก็จะตบหมอ ตบพยาบาลแบบนี้ไม่ได้
เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่าง บุคลากรการแพทย์ทำงานหนักอยู่แล้ว อยากให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หากไม่พอใจก็มีช่องทางให้ร้องเรียนผ่านโรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือร้องเรียนมาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็จะมีมาตรการลงโทษทั้งหลายอยู่แล้ว
อยากให้ใช้ขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่ลงไม้ลงมือ นอกจากนี้ รมว.สาธารณสุข มีมาตรการให้บุคลากรการแพทย์ ฝึกยุทธวิธีป้องกันตนเอง อาจจะเห็นพยาบาลลุกมาเตะก้านคอ เพื่อป้องกันตัวเองก็ได้ ต้องให้เห็นว่าพวกเรามีความเข้มแข็ง ย้ำว่าสถานพยาบาลเป็นพื้นที่คุ้มครอง สงครามยังไม่สร้างความรุนแรงในโรงพยาบาล
เมื่อถามว่า การบาดเจ็บของพยาบาลที่ถูกทำร้ายต้องใช้เวลาในการรักษานานแค่ไหน นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า น้องพยาบาลมีอาการฟกช้ำบริเวณใบหน้า จะใช้เวลารักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ที่อาการรุนแรงคือ แก้วหูอักเสบ ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหู คอ จมูก ไปประเมินและทำการรักษาว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน
แต่จากเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา มีโอกาสพูดคุยกับน้องได้รับการกระทบจิตใจพอสมควร ซึ่งจะต้องให้จิตแพทย์เข้าไปดูแลอีกครั้ง เบื้องต้นน้องพยาบาลกำลังใจยัดี แต่หลังๆ เริ่มมีภาวะเครียด ทั้งนี้หากผลการประเมินอาการบาดเจ็บของผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านแล้ว จะนำมาสู่ผลในการดำเนินคดีต่อไปด้วย
เมื่อถามว่า ในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยห้องไอซียู มีข้อกำหนดเรื่องอายุ หรือข้อกำหนดว่าใครเข้าได้บ้างหรือไม่ นพ.ภูษิต กล่าวว่า ปกติห้องไอซียูจะให้เยี่ยม 2 ช่วง คือช่วงเที่ยงกับช่วงเย็น จะห้ามผู้มีภูมิต้านทานต่ำเข้าไป เช่น คนสูงอายุมาก หรือเด็กเล็ก ไม่ควรเข้าไป
โดยเฉพาะกรณีโรคติดเชื้อ อย่างผู้ป่วยรายนี้สภาพบุคลากรการแพทย์ที่จะเข้าไปรักษาต้องใส่หน้ากาก N 95 สวมชุดป้องกันการติดเชื้อ ออกมาแล้วก็ถอด เพราะนี่เป็นโรคที่ติดกันง่าย ดังนั้นถึงมีข้อกำหนดว่า โรคติดเชื้อไม่ควรจะคนมีภูมิต้านทานต่ำเข้าไป
ด้าน พยาบาลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ กล่าวว่า พยาบาล แจ้งกับญาติว่าไม่ควรพาเด็กเข้ามาในห้อง เนื่องจากคนไข้ติดเชื้อ อาจจะทำให้เชื้อติดเด็กได้ ในตอนนั้นสามียังมีอาการปกติ พูดคุยหัวเราะ และพาเด็กออกไปตามปกติ จนกระทั่งต่อมาพยาบาลที่โดนทำร้ายเข้ามาตักเตือนอีกที จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยล่าสุดพยาบาลที่โดนตบยังมีอาการเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ