โซเชียลเตือนกัน “รอยดำ” บนผลไม้ คือเชื้อราซึมลึกถึงเนื้อ กินไปทำลายตับ-ไต อ.เจษฎ์ โพสต์แล้ว เรื่องนี้จริงหรือไม่?!
จากกรณีโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพผลไม้ ซึ่งผิวบางส่วนของเปลือกมี “รอยดำ” เกิดขึ้น พร้อมคำเตือนว่าเมื่อผลไม้เปลี่ยนเป็นสีดำ เน่า หรืออ่อนนิ่ม เป็นเพราะเมื่อผลไม้เริ่มเน่าเสีย แบคทีเรียและเชื้อราเริ่มแพร่กระจาย พร้อมปล่อยสารพิษซึมลึกเข้าสู่ส่วนที่ดูเหมือนยังไม่เสีย ซึ่งสามารถทำลายตับ ไต และลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งข้อมูลนี้ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้บริโภคหลายคน
ล่าสุด อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า“รอยดำบนผลไม้ เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติของการสุกงอม ไม่จำเป็นต้องอันตรายเสมอไป สามารถนำมาบริโภคได้ มีเฉพาะกรณีที่มีเชื้อราขึ้นจริงๆ ที่ต้องระวังและทิ้งไป” ซึ่งวิธีเช็คก็คือ ถ้ายังมีรอยดำไม่มาก ให้ลอกปอกเปลือกดู ถ้าเนื้อผลไม้ยังปรกติดี ไม่มีรอยจุดดำ ก็สามารถรับประทานได้ แต่ถ้ามีรอยดำเป็นจำนวนมาก หรือเห็นเส้นใยเชื้อรา ให้ทิ้งไปทั้งลูกอาจารย์เจษฎา อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ผลไม้ผิวบางเนื้อนิ่มอย่างมะม่วงนั้น หลังจากซื้อผลสุกมาจากตลาดแล้วเก็บไว้สักระยะหนึ่ง (หรือเก็บมะม่วงดิบ มาบ่มเองจนสุก) มักจะพบว่า เกิดรอยดำเป็นจุดๆ ขึ้นบนผิวของมะม่วง ตั้งแต่จุดเล็กๆ จนถึงจุดใหญ่กระจายทั่วทั้งผล สาเหตุสามารถแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เนื้อนิ่มอย่างมะม่วง เมื่อสุกจะเริ่มมีจุดกระ สีดำ เป็นจุดเล็ก ๆ เกิดขึ้นบนผิว เกิดจากเชื้อรา ที่เป็นสาเหตุโรคพืช ได้แก่ เชื้อรา Collectotrichum gloeosporioides และ Lasiodiplodia theobromae ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคแอนแทรคโนส และโรคขั้วผลเน่า เชื้อราทั้งสองชนิดนี้จะเข้าทำลายแบบแฝง ตั้งแต่มะม่วงยังดิบอยู่ แล้วจะค่อยๆ แสดงอาการออกมาพร้อมกับมะม่วงที่เริ่มสุก โรคจุดดำ หรือ โรคแอนแทรคโนสในมะม่วง เกิดจาก เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides เข้าทําลายพืชได้ ทุกระยะการเจริญ และเกือบทุกส่วนของมะม่วง ไม่ว่าจะเป็นต้นกล้า ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก ดอก ผลอ่อนจนถึงผลแก่ และผลหลังการเก็บเกี่ยว ทําให้เกิดอาการ อย่างน้อยก็เป็นจุดแผลตกค้าง อยู่บนใบ กิ่ง ผล และหากการเข้าทําลายของโรครุนแรง ก็จะเกิดอาการใบแห้ง ใบบิดเบี้ยว และร่วงหล่น ช่อดอกแห้งไม่ติดผล ผลเน่าร่วง ตลอดจนผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว (จุดสังเกต คือ มีจุดสีนํ้าตาลดำในผลอ่อน กลายเป็นจุดแผลสีดํา และลุกลามขยายกว้างขึ้น) เกิดจากแมลงวันผลไม้ (fruit fly) โดยแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัย เพศเมีย จะใช้อวัยวะวางไข่ แทงลงบนผิวของผลมะม่วง ตั้งแต่ระยะผลอ่อนหรือระยะที่ผลใกล้สุก เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน จะเจริญเติบโตภายในผล ทำให้ผลมีจุดดำและเน่าเสีย
แล้วถ้าพบจุดดำเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม ยังจะรับประทานมะม่วงผลนั้นได้อยู่ไหม? คำตอบก็คือ ถ้าเราปอกเปลือกมะม่วงผลนั้นออกมา แล้วเนื้อมะม่วงยังปกติดีไม่มีจุดดำใดๆ ก็สามารถที่จะรับประทานได้ แต่ถ้าเราปอกเปลือกแล้ว พบจุดดำเกิดขึ้นบนเนื้อของมะม่วง ควรที่จะทิ้งทั้งลูก เพราะไม่สามารถทราบได้เลยว่าพิษจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่แฝงเข้ามาจากจุดที่ขยายใหญ่ขึ้นนั้น ได้แทรกซึมเข้าไปมากกว่าที่ตาเราเห็นหรือไม่ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรทิ้งทั้งลูกจะดีกว่า