นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่าอยู่ระหว่างการปรับลดเงื่อนไขบางเรื่องในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (เฟส 3) เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายขึ้นว่า ยืนยันว่าไม่สามารถนำเงินดิจิทัลที่ได้รับจากโครงการไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ตามที่มีกระแสข่าว โดยยอมรับว่ามีการพิจารณาในการปรับลดเงื่อนไขสำหรับการใช้จ่ายเงินดิจิทัลตามโครงการจริง เพื่อให้ง่ายขึ้นสำหรับประชาชนและร้านค้า ส่วนรายละเอียดทั้งหมดยังไม่สามารถบอกได้ เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม เงินดิจิทัลที่ได้รับจากโครงการสามารถนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้แน่นอน และเท่าที่มีการหารือกันในขณะนี้ เงื่อนไขการใช้จ่ายจะยังคงคล้ายๆ เดิม อาทิ การใช้จ่ายภายในเขตอำเภอ การใช้จ่ายรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ของร้านค้า แต่อาจจะมีการผ่อนคลายเงื่อนไขบ้างบางข้อที่อาจจะทำให้การใช้งานของประชาชนและร้านค้ายุ่งยาก
ยังยืนยันว่าเฟส 3 จะอยู่ในมิติของเงินดิจิทัล และยืนยันว่าไม่สามารถนำเงินดิจิทัลที่ได้รับไปแลกเป็นเงินสดได้ หลักๆ เงื่อนไขการใช้จ่ายยังเป็นไปตามเดิม คือนำไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้ ส่วนเรื่องการปรับเงื่อนไขให้เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายขึ้นที่เป็นประเด็นนั้น หมายถึงการแคชเอาต์ของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ง่ายขึ้นเท่านั้น ส่วนประชาชนยังเหมือนเดิม คือนำไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้ ส่วนข้อสรุปทั้งหมดอยากให้รอดู ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลกัน ระหว่างความง่ายในการใช้จ่ายและการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายเผ่าภูมิระบุ
สำหรับการทดสอบระบบ Open Loop กับสถาบันการเงินนั้น ยังอยู่ในกระบวนการ และทุกอย่างยังคงเดินหน้าตามไทม์ไลน์ทั้งหมด ส่วนคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง และหลังจากนี้จะมีการประชุมอีก เพื่อหารือในรายละเอียด หลังจากได้มอบการบ้านให้หน่วยงานกลับไปพิจารณา โดยต้องนำมาหาข้อสรุปกันก่อนที่จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณา ส่วนจะมีการประชุมเมื่อไหร่คงต้องรอดู
รมช.การคลังกล่าวว่า จากการศึกษาดัชนี Gini coefficient ซึ่งใช้วัดความเหลื่อมล้ำ ที่ระบุว่าเม็ดเงินจากโครงการโอนเงิน 10,000 บาท (เฟส 1) ให้กับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านราย วงเงิน 1.45 แสนล้านบาทนั้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำลง 3 ปี ไม่ได้เป็นตัวเลขที่มากเกินไป เนื่องจากกระบวนการนี้เป็นการใส่เม็ดเงินขนาดใหญ่ มีการใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับเงิน ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ และเม็ดเงินตรงนี้เข้าไปช่วยเพิ่มในเรื่องความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย เพิ่มฐานะ ซึ่งนั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ
จากผลการศึกษาพบว่าเม็ดเงินจากโครงการเฟส 1 ทำให้ดัชนี Gini ลดลง 0.01% ซึ่งหากไปดูในกรณีที่ไม่ได้มีการใส่มาตรการอะไรเข้าไปเลย ดัชนี Gini ของทุกประเทศจะลดลงอยู่แล้วเมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโต เทคโนโลยีดีขึ้น คนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น แต่การลดลงจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่เม็ดเงินจากโครงการเฟส 1 ที่ลงไปวันนี้ ช่วยลดดัชนี Gini ของประเทศไทยลง 0.01% เร็วขึ้นกว่าการไม่ทำอะไรเลยถึง 3%” นายเผ่าภูมิกล่าว