จากสื่อต่างประเทศ ได้รายงานว่า เด็กหญิงคนนี้ชื่อ เยน เยน (นามสมมุติ) หญิงสาวอายุ 22 ปี ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองเทียนจิน ประเทศจีนแต่เดิมก็เป็นคนที่เรียนหนักอยู่แล้ว โดยเฉพาะตอนนี้ที่กำลังเตรียมตัวสำหรับการสอบสำเร็จการศึกษา และกำลังศึกษาเพื่อสอบเข้าปริญญาโท ดังนั้น จึงใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เรียนตั้งแต่เช้าถึงดึกทุกวัน
เด็กสาวเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอักเสบบี จึงรับประทานยาเป็นประจำตามที่แพทย์สั่งเพื่อควบคุมโรค ผู้เป็นแม่รู้ว่าลูกสาวป่วยและอาศัยอยู่ในหอพักที่ห่างไกลจากบ้าน จึงกังวลเรื่องสุขภาพอย่างมาก ต่อมาค้นพบข้อมูลทางออนไลน์ว่านมถั่วเหลืองดีต่อตับ ดังนั้นตั้งแต่ลูกเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ก็มักโทรมาเตือนให้ดื่มนมถั่วเหลืองทุกวัน
ได้ยินมาว่าการดื่มนมถั่วเหลืองดีต่อตับ เลยบอกให้ลูกสาวซื้อถั่วเหลืองมาทำนมดื่มทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดี เธอยังเชื่อฟังมากและยังคงนิสัยชอบดื่มนมถั่วเหลืองมาเป็นเวลาสองปีแล้ว แม่ของหญิงสาวเล่า
อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมาหญิงสาวเริ่มรู้สึกเหนื่อยและเซื่องซึมกว่าปกติ มักมีอาการท้องเสียบ่อยครั้ง ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะเครียดเกินไป ทำให้รู้สึกเหนื่อยและมีปัญหาทางเดินอาหาร จึงไม่ได้สนใจอะไรมากนัก แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน อาการท้องร่วงก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีอาการปวดท้องรุนแรงอีกด้วย เมื่อเห็นว่าสุขภาพย่ำแย่จึงขอให้เพื่อนร่วมชั้นพาเธอไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล
หลังจากการตรวจอย่างละเอียด แพทย์พบว่าความเข้มข้นของอัลฟ่า-เฟโตโปรตีน (AFP) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้โรคตับในร่างกายนั้นสูงผิดปกติถึง 430ng/ml ขณะที่ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) พบว่ามีเนื้องอกในตับขนาด 4 ซม. ท้ายที่สุดนักศึกษาสาวก็น้ำตาไหล เพราะถูกวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งตับ ในวัยเพียง 22 ปี และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที
นิสัยที่เป็นพิษต่อร่างกาย ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับ
เมื่อตรวจประวัติการรักษาของหญิงสาว แพทย์พบว่ามักจะซื้อถั่วเหลืองมาต้มเป็นนมดื่มเอง และเพื่อประหยัดเงินจึงมักจะซื้อถั่วเหลืองมาครั้งละจำนวนมาก และเก็บใส่ถุงไว้นานหลายเดือน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเก็บรักษาไม่ดี ถั่วเหลืองจึงเริ่มขึ้นราหลังจากผ่านไป 1 เดือน แต่เพราะกำลังประหยัดเงินจึงไม่ทิ้งมันไป แต่นำมาล้างส่วนที่ขึ้นราแล้วใช้ต่อ
แพทย์อธิบายว่าถั่วเหลืองที่ขึ้นราจะก่อให้เกิดแบคทีเรียและสารพิษจำนวนมาก รวมถึงเชื้อราอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นพิษอย่างยิ่งต่อร่างกาย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้ระบุให้เป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
ตามเอกสารการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) เชื้อราอะฟลาทอกซินมีความเสถียรต่อความร้อนสูง แม้ว่าการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูงจะทำลายสปอร์ของเชื้อรา แต่สารพิษของพวกมันก็ไม่สามารถทำลายได้จนหมดสิ้น ดังนั้น การทานอาหารที่มีเชื้อราอาจทำให้อะฟลาทอกซินเข้าสู่ร่างกายได้ หากภาวะนี้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง ทำลายเซลล์ตับ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ