จากกรณี สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ พูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรายการ กรรมกรข่าวคุยนอกจอ ถึงประเด็นเกี่ยวกับ ดิจิทัลวอลเล็ต โดยช่วงหนึ่งสอบถามเรื่องข้อกังวลว่า อาจจะเกิดช่องโหว่ที่ทำให้บางกลุ่มได้ผลประโยชน์ รวมทั้งเมื่อแจกเงินดิจิทัลแล้ว ก็อาจจะถูกนำไปแลกเป็นเงินสด ดังนั้นจะมีวิธีดูแลจัดการอย่างไร
ทั้งนี้ นายสรยุทธถามว่า เราจะสามารถป้องกันคนเอาเงินดิจิทัลวอลเล็ต ไปแลกเป็นเงินสดอย่างไร ในกรณีที่คนที่ต้องการที่จะแลก อยากได้เงินสดไปซื้อเหล้า เอาไปจ่ายค่าไฟ โดยยอมที่จะเสียส่วนต่าง เช่น มีเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่ขอแลกเป็นเงินสด 7,000 บาท ให้ร้านกินกำไรไปเลย 3,000 บาท
ซึ่งนายจุลพันธ์ยอมรับว่า เรื่องนี้มันยากที่จะป้องกันได้ 100% แต่ตนจะบอกว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท มีค่าเท่ากับเงินสด 10,000 บาท การจะเอาเงินดิจิทัลไปแลกเงินสดในราคาที่ลดลง มันไม่ฉลาด และเงินดิจิทัลใช้ได้กว้าง ใช้ได้ทุกที่ อีกอย่างคือ หากต้องการซื้อสินค้าที่อยู่ในลิสต์ต้องห้าม คุณสามารถเอาเงินสดไปซื้อได้ แล้วค่อยใช้เงินดิจิทัลไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคแทน การจะเอาเงินดิจิทัลไปแลกเงินสดในมูลค่าที่ลดลง ถือเป็นเรื่องไม่ฉลาด
อีกประเด็นคือ เรามีระบบการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ข้อมูลในระบบไม่หาย เช่น ร้านค้าร้านหนึ่ง ปกติขายได้เฉลี่ย 4,000 แต่อีกวันขายได้กระโดดไป 80,000 ระบบจะต้องแจ้งเลย แล้วหน่วยงานก็จะต้องไปตรวจสอบ หากพบว่าไม่ได้มีการซื้อขายสินค้าจริงก็จะดำเนินการ ซึ่งในอดีต เคสที่รัฐดำเนินคดีและเรียกเงินคืนรวมทั้งตัดสิทธิ
ด้านนายสรยุทธถามต่อว่า ในมุมของร้านค้าร้านเล็ก เนื่องจากกว่าจะได้เงินสดก็นาน ร้านจะไม่มีเงินสดไปซื้อกับร้านรายย่อยอื่น ๆ ได้ แบบนี้สุดท้าย เงินก็จะหมุนเข้าสู่ร้านใหญ่ นายจุลพันธ์ก็ตอบว่า ร้านรายย่อยสามารถขึ้นทะเบียนกับเราได้ เพื่อให้มีตัวเลือกที่กว้างขึ้น และเราจะดึงซัพพลายเชนเข้ามาถึงผู้บริโภคดีขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว อีกอย่างคือ เงินสดในระบบมีอยู่ 10 ล้านล้าน ส่วนเงินดิจิทัลนั้นเพียง 5 แสนล้าน ดังนั้นเงินในระบบไม่ได้หายไปไหน ดังนั้น การที่ร้านไปซื้อข้าวของมาขาย ไม่จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลวอลเล็ตทุกเคสอยู่แล้ว
สุดท้าย นายจุลพันธ์ยืนยันว่า เชื่อว่าหลังจากรัฐบาลแถลงครั้งล่าสุด จะเกิดผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจ เมื่อทุกคนรู้ว่าช่วงปลายปีเงินจะลงมา จีดีพีปีนี้ขยับแน่นอน ร้านค้าและโรงงานต้องเริ่มผลิตสินค้า ขยับจ้างงาน และหลังจากนั้นจะเกิดผลเต็มรูปแบบ และคาดว่าประชาชนจะได้ทันใช้เงินดิจิทัลก่อนสงกรานต์และปีใหม่