เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. นายนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมสส.จังหวัดเชียงราย อาทิ นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม และนายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วมและให้กำลังประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยจุดแรกได้เดินทางไปที่ อ.เวียงแก่น หลังจากนั้นได้เดินทางไปยังบ้านป่าข่า อ.ขุนตาล และ อ.เทิง

นายณัพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่าชาวบ้านที่ได้คุยด้วยบอกว่าตั้งแต่เกิดมาเพิ่งเห็นครั้งนี้น้ำแรงที่สุด ตอนไป อ.เวียงแก่น เห็นสภาพที่น้ำเริ่มลดแล้วแต่โคลนก็ยังเยอะอยู่ และเทศบาลและประชาชนมาช่วยกันทำความสะอาด นอกจากเดินทางมาให้กำลังใจแล้วยังสอบถามประชาชนว่าหากมีอะไรขาดเหลืออยากให้ สส.ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พร้อมดำเนินการ ขณะเดียวกันการเดินทางมาที่ อ.ขุนตาล พบว่ามีสะพานข้ามลำห้วยถูกน้ำซัดขาด คิดว่าหากรัฐบาลพอจะจัดสรรงบกลาง หรืองบภัยพิบัติมาช่วยเหลือซ่อมแซมสะพานก็เป็นการแก้ไขเบื้องต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าภัยพิบัติอุทกภัยในเมืองไทยมีมาอย่างยาวนาน จะมีแนวทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืนอย่างไร นายณัฐพงษ์กล่าวว่าการจัดสรรงบประมาณสำหรับการป้องกันนั้นสำคัญที่สุด ตนเองเป็นกรรมาธิการติดตามงบประมาณเห็นว่าใช้เพียงงบกลางแก้ปัญหาเป็นครั้งๆ วันก่อนสส.ก็เพิ่งอภิปรายเรื่องเขื่อนน้ำคำ เพื่อให้บริหารจัดการน้ำ

ผู้สื่อข่าวถามว่าลุ่มน้ำโขงและลำน้ำสาขาที่อาศัยธรรมชาติร่วมกัน แต่สถานการณ์กลับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะแก้ไขอย่างไร นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ประเด็นลุ่มน้ำโขงนั้นใช้ร่วมกัน ต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยฯ ที่ลงมาดูและขับเคลื่อนเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชาวบ้านสะท้อนว่านโยบายรัฐไม่สอดคล้องกับภูมินิเวศในท้องถิ่น ฝ่ายนิติบัญญัติจะทำอย่างไร นายณัฐพงศ์กล่าวว่าในฐานะที่อยู่พรรคฝ่ายค้าน จะใช้กลไกที่มีอยู่ ทั้งกมธ. ต่างๆ มาลงพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เยอะที่สุด ให้ความเชื่อมั่นว่าเสียงจากชาวบ้านจะมีความหมาย และนำไปสะท้อนให้มีการแก้ไขปรับปรุง

ขณะที่นางจุฬาลักษณ์ สส.เชียงราย กล่าววว่ากรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องโครงการเขื่อนปากแบง ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนใน อ.เวียงแก่นนั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กมธ. ความมั่นคงฯ ได้มาลงพื้นที่ และชาวบ้าน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น ได้พูดเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนจากน้ำเท้อ ระบบนิเวศที่จะเสียหาย พันธุ์ปลาและการประมง ซึ่งกมธ.ก็ติดตามใกล้ชิดว่านโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรต่อไป ได้รับฟังจากท้องถิ่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคเอกชน และมูลนิธิต่างๆ ก็มีการเล่าถึงสภาพปัญหาและผลกระทบ ซึ่งประชาชนไม่ได้ต้องการการเยียวยาแต่ต้องการไม่ให้เกิด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบเสียหายเกิดขึ้น