วันที่ 24 สิงหาคม 2567 จากสถานการณ์น้ำทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลทำให้หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ และการบริหารน้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 3 แจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ลพบุรี ให้ทำการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าติดตามสถานการณ์ เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาที่เป็นกุญแจสำคัญดอกสุดท้าย ก่อนที่มวลน้ำจะเข้าสู่กรุงเทพฯ
ขณะนี้มีเกณฑ์จะระบายน้ำในอัตรา 500-700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ไปจนถึง บริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 1-1.20 เมตร และหากมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มากกว่า 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 848 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.91 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 8.83 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 7.51 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 531 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นอกจากนี้ ทางกรมชลประทาน ได้มีการจัดสรร และทำการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา อีก 260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเตรียมรับมวลน้ำเหนือ