คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่ง ยุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต.ยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จากเรื่องพิจารณาที่ 17/2567 กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในเอกสารของผู้ร้องอ้างว่า จากหลักฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอันควรเชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค ประกอบกับพฤติการณ์ของแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งแสดงออกในหลายเหตุการณ์ถึงการให้การยกย่อง ให้ความสำคัญ ให้ความใกล้ชิด ให้การต้อนรับ และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการยอมรับการชี้นำจาก นายทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งการนำวิดีโอที่นายทักษิณชี้นำแนวทางไม่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมใหม่ และชี้นำการปฏิบัติตนของสมาชิกพรรคเพื่อไทย มาเปิดในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ภายใต้การรู้เห็นของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

จึงแสดงว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย ในลักษณะที่ทำให้สมาชิก และกรรมการบริหารพรรคขาดความอิสระ และนายทักษิณมีการกระทำที่เป็นการชี้นำพรรคเพื่อไทยและสมาชิก อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 อันทำให้การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง

ผู้ร้องระบุอีกว่า โดยการที่พรรคเพื่อไทยฝ่าฝืนมาตรา 28 จะเป็นเหตุให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และการที่นายทักษิณฝ่าฝืนมาตรา 29 จะมีโทษตามมาตรา 108 แห่ง พ.ร.ป.เดียวกัน และเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบสวน เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 10/2567 กรณี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล