วันที่ 5 กันยายน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่อง เส้นทางพายุไต้ฝุ่นยางิ ที่ทำให้พื้นที่ทางด้านเหนือของไทย มีฝนตกหนัก และอิทธิพล ของพายุดังกล่าวนี้ จะถูกความชื้นบริเวณภาคเหนือ เหนี่ยวนำเข้ามา ทำให้ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝนตกหนักมาก ช่วงวันที่ 6 กันยายนนี้ ว่า เวลานี้ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ กำลังมุ่งหน้าไปทางไห่หนานแบบช้าๆ และภาวะโลกร้อนทำให้พายุลูกนี้เพิ่มกำลังเร็วมากและแรงเป็นพิเศษ

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ไต้ฝุ่นกับไห่หนาน ฮ่องกง และพื้นที่แถวนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในอดีตเป็นไต้ฝุ่นขนาดเล็กความรุนแรงต่ำ โลกร้อนไม่ได้ทำให้พายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พายุแต่ละลูกจะแรงขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลร้อนมากกว่าในอดีต ทั้งนี้ น้ำร้อนกับอากาศร้อนยังทำให้ฝนตกหนักกว่าเดิม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน/ดินถล่ม

โลกร้อนยังทำให้พายุเพิ่มกำลังเร็วมากจนรับมือแทบไม่ทัน โดยยางิ เปลี่ยนจากพายุโซนร้อนกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นในระยะเวลาอันสั้น ผมเคยเขียนถึงเฮอริเคน Otis ที่เข้าเม็กซิโกในปีที่แล้ว พายุเร่งความแรงจากโซนร้อนกลายเป็น Cat5 ภายในเวลา 24 ชั่วโมง พายุมาเร็วมาก ทำให้รับมือไม่ทัน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเกือบร้อย เศรษฐกิจพังพินาศ เสียหายหลายแสนล้านบาท (1.5 หมื่นล้านเหรียญ)”ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

รองคณบดีคณะประมง กล่าวว่า ในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา มีพายุไต้ฝุ่นเข้าไห่หนาน 106 ลูก แต่มีแค่ 9 ลูกเท่านั้นที่เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น ยางิจึงเป็นพายุที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายกับจีนใต้ จนต้องยกระดับการรับมือถึงขั้นสูงสุด ปิดทุกอย่างตั้งแต่พฤหัสค่ำ เมื่อข้ามเกาะไห่หนาน พายุน่าจะลงทะเลอีกครั้ง แล้วตรงมาที่เวียดนามเหนือ เมื่อลงทะเล พายุจะแรงเพิ่มขึ้น ต้องลุ้นว่าจะแรงขนาดไหน

บ้านเราคงได้รับผลกระทบที่ภาคเหนือ/อีสานตอนบน ต้องติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพราะโลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การพยากรณ์ล่วงหน้านานๆ ทำได้ยาก ระวังตัวไว้ ติดตามข้อมูลแบบต่อเนื่อง เตรียมรับมือ เช็คความเสี่ยง คิดถึงเหตุร้ายที่อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดกับเรา ป้องกันและจำลองสถานการณ์เพื่อหาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า อย่าประมาทพายุโลกร้อนเด็ดขาดครับ”ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว