นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า ในโอกาสที่สำนักงานประกันสังคมดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 34 ปี ผมขอแสดงความยินดีกับสำนักงานประกันสังคม ที่สามารถดูแลอยู่เคียงข้างเป็นที่พึ่งของลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยยึดมั่นภารกิจในการสร้างหลักประกันความมั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยผมได้มอบนโยบายหรือทิศทางการขับเคลื่อนงานประกันสังคมในปี 2568 โดยให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … อาทิ

ขยายฐานอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-65 ปี

ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39/1 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และตาย อีกทั้ง กรณีผู้ประกันตนออกจากงานจะได้สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรต่ออีก 6 เดือน

เพิ่มเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน เพิ่มเป็น 98 วัน

เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพเป็นร้อยละ 70 (เดิมร้อยละ 50)

กรณีว่างงานให้ลูกจ้างที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงจะได้รับเงินกรณีชราภาพ

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้กล่าวถึงมาตรการ 3 ขอ คือ ขอเลือก ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญได้ ตามข้อกำหนด ขอคืน กรณีเกิดภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนอย่างร้ายแรง สามารถขอรับเงินชราภาพบางส่วนได้ก่อนอายุครบ 55 ปี ตามข้อกำหนด ขอกู้ ผู้ประกันตนสามารถนำเงินชราภาพบางส่วน ใช้เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม ตามข้อกำหนด อีก

ทั้งสำนักงานประกันสังคมยังได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 ดังนี้

1. กรณีทุพพลภาพ ปรับเพิ่มสูงสุด 3,000 บาท คุ้มครองตลอดชีวิต

2. กรณีสงเคราะห์บุตร ปรับเพิ่มเป็นจำนวน 300 บาท ต่อบุตร 1 คน สูงสุดไม่เกินคราวละ 2 คน อายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์

3. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ ประกอบด้วย

(1) กรณีที่ไม่ได้พักรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลและไม่มีความเห็นของแพทย์ให้หยุดพักรักษาพยาบาล (ไป-กลับ) ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ปรับเป็นอัตราครั้งละ 200 บาท จำนวน 3 ครั้งต่อปี

(2) ผู้ประกันตนทั้ง 3 ทางเลือก สามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ในกรณีที่แพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาพยาบาล ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายและเสนอตามขั้นตอนต่อไป