วันที่ 7 ก.ย. 67 มีรายงานว่า นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 7 ระบุว่า ตามประกาศสํานักงานทรัพยากรน้ําแห่งชาติ (สนช.) ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สํานักงานทรัพยากรน้ําแห่งชาติ (สนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกําลังแรงขึ้น ทําให้ประเทศไทยมีฝนตกหนัก บางแห่งบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ซึ่งสํานักงานทรัพยากรน้ําแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ําตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศ ทรัพยากรน้ํา (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ําหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ ต้นน้ําจากกรมทรัพยากรน้ําและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังในช่วงวันที่ 3-9 กันยายน 2567

และจากการคาดการณ์โดยกรมชลประทาน ใน 1-7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่สถานี C.2 อําเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ําไหลผ่านประมาณ 1,500-1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลําน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทําให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

กรมชลประทาน มีความจําเป็นต้องระบายน้ําผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,500 – 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.50 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ําบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตําบลหัวเวียง อําเภอเสนา ตําบลลาดชิด ตําบลท่าดินแดง อําเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบ ต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน เขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น กรมชลประทานได้ดําเนินการภายใต้เกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา โดยประธานคณะอนุกรรมการอํานวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา (นายคุณากร ปรีชาชนะชัย) อนุญาตให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นไม่เกิน 2,000ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบบขั้นบันได

พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำ และควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ําและควบคุมปริมาณการระบายน้ําผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ํา กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น