เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมร้านค้า เพื่อเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 4 ของปีนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม 2567) ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมด้านร้านค้าไว้เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมการค้าภายใน เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนหน่วยงานอื่นที่เป็นเจ้าของฐานข้อมูลร้านค้า ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งฐานข้อมูลร้านค้าให้กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เพื่อรวบรวมในฐานข้อมูลกลาง เตรียมความพร้อมลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นแล้ว รวม 1,604,000 ร้านค้า
นายภูมิธรรม กล่าวว่า รายละเอียดของร้านค้า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีนิติบุคคลขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 910,000 ราย จำนวนนี้มีร้านธงฟ้า 146,000 แห่ง และร้านอาหารธงฟ้า 5,000 แห่ง ที่กรมการค้าภายในดูแล มีร้านค้า (โชห่วย) หาบเร่ แผงลอย ร้านค้าอาหาร ร้านค้าตลาดนัด และที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดูแล 400,000 แห่ง รวมทั้งมีกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแล 93,000 แห่ง และห้างค้าส่งปลีกและร้านสะดวกซื้อ ที่สมาคมค้าปลีกไทยดูแล โดยดำเนินการผ่านกระทรวงพาณิชย์ 50,000 แห่ง
นายภูมิธรรมกล่าวว่า กำหนดการลงทะเบียน เบื้องต้นเดือนสิงหาคนี้จะเปิดลงทะเบียนกลุ่มร้านค้า สมาคมค้าปลีก-ค้าส่ง ตามด้วยกลุ่มซัพพลายเออร์ และร้านค้าทั่วไป ส่วนกรณีมีการมองว่าการลงทะเบียนร้านค้า เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ยืนยันว่าการดำเนินการไม่ได้เป็นเช่นนั้น จะเน้นร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งร้านค้าบุคคลธรรมดา ร้านธงฟ้า ร้านกองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน ร้านค้ารายย่อย ร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยท้องถิ่น ร้านสหกรณ์ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน โอท็อป ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ร้านขายของชำ มีสิทธิหมด รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก แต่ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
นายภูมิธรรมกล่าวว่า สำหรับรายการสินค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทุกประเภท ยกเว้นธุรกิจบริการและสินค้า 18 กลุ่ม (Negative List) ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ได้แก่ 1.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ผลิตภัณฑ์ยาสูบ 4.กัญชา 5.กระท่อม 6.พืชกระท่อม 7.ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม 8.บัตรกํานัล 9.บัตรเงินสด 10.ทองคํา 11.เพชร 12.พลอย 13.อัญมณี 14.น้ำมันเชื้อเพลิง 15.ก๊าซธรรมชาติ 16.เครื่องใช้ไฟฟ้า 17.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 18.เครื่องมือสื่อสาร อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณาปรับปรุงรายการสินค้า Negative List หากเห็นว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะสินค้าบางชนิด ที่จำเป็นต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือใช้สร้างอาชีพ